DIARY

ร่างทรง

เนื้อหาเดิมลงไว้ที่เพจ หนังแพงเราไม่ดู นะจ๊ะ

May be an image of outdoors and text

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อทีมงานสารคดี สนใจจะถ่ายทำเรื่องการสืบทอดทายาทของร่างทรงที่จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน

ทีมงานได้พบกับ “ป้านิ่ม” ร่างทรงของหมู่บ้านที่ได้รับสืบทอดตำแหน่งคนทรงมาจากน้าสาว นิ่มพาทีมงานไปร่วมงานศพของพี่เขย ซึ่งเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง แล้วทีมงานก็ได้พบกับ “มิ้ง” หลานสาวของนิ่ม ซึ่งจู่ ๆ ก็มีอาการแปลก ๆ นิ่มสงสัยว่าอาจจะถึงเวลาที่มิ้งซึ่งเป็นทายาทผู้หญิงคนเดียวในครอบครัว ต้องรับเป็นร่างทรงต่อจากเธอ แต่มิ้งกับแม่ไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น นับวันอาการของมิ้งยิ่งเลวร้าย สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มไม่ปกติ แล้วป้านิ่มก็ได้พบกับสาเหตุที่ทำให้มิ้งเปลี่ยนไป

ร่างทรงใช้การเล่าเรื่องแบบสารคดี มีตากล้องพูดคุยติดตามตัวละครในเรืองไปทีละเหตุการณ์ เลยมีบางอย่างที่ยังคลุมเครือ เป็นอะไรที่คนดูต้องไปคิดต่อกันเองถึงสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ทั้งหมดหนังเริ่มจากความอ้อยอิ่ง เย็นสงบ ในบรรยากาศแบบต่างจังหวัด แล้วเพิ่มระดับความวุ่นวาย ความคลางแคลงใจ หวาดผวา ระแวงทุกอย่าง ก่อนถึงขั้นบ้าคลั่งจนอยู่เหนือความควบคุม ความที่เราต้องนั่งอยู่ในโรงตลอด 2 ชั่วโมง พร้อมกับการไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย ๆ โปรดนึกถึงการนั่งรถไฟเหาะ พอเข้าช่วงเต็มสปีดแล้ว ไม่มีจังหวะเบรคจนกว่าจะสุดปลายทาง เป็นการดูหนังที่ใช้พลังงานเยอะมาก โดยเฉพาะ30นาทีสุดท้าย หลายฉากเป็นการถ่ายแบบ handheld เราเรียกมุมกล้องหัวสั่นหัวคลอน รับประกันความมึน

หนังแอบตั้งคำถามกับความศรัทธา ความเชื่อในศาสนา และลัทธิต่าง ๆ ที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน เห็นยุคนี้เขาเรียกศาสนาไทย ก็คือรวมมิตรมันทุกสิ่ง มิกซ์ แอนด์ แมท แล้วแต่วาระ เราชอบวิธีการเล่าเรื่องในครึ่งแรกของหนัง แต่พอเข้าช่วงก่อนจะทำพิธี ตรงนี้เป็นบรรยากาศรายการผี แบบที่เราจะได้เห็นผีเดินไปมาจนเราต้องลุ้นตลอด จนเข้าช่วงช่วง 30 นาทีสุดท้าย คือเหยียบมิดไปเลยลูกพี่!! อีรุงตุงนังกันไปหมดจนลืมไปเหมือนกันว่าหนังกำลังจะบอกอะไรกับเราบ้าง

หนังจบแบบปลายเปิดซึ่งก็สนุกดีในุมที่ให้เราต้องมาคิดกันต่อ แต่ถ้าคนไม่ชอบการจบแบบนี้ก็ลำบากหน่อย

คำถามที่แม่น้อยเอ่ยถามป้านิ่มผู้เป็นน้องสาว เรื่องที่ใครเป็นคนกำหนดชะตากรรม เชื่อว่าสักครั้งในชีวิต เราเองก็เคยเกิดคำถามนี้ในใจ แล้วก็มักจะตั้งคำถามแค่ตอนที่เกิดความทุกข์ แม่น้อย เป็นเหมือนคนที่นับถือศาสนาแค่เปลือก พร้อมจะเปลี่ยนไปทางไหนก็ได้ ที่ทำให้ตัวเองได้ผลประโยชน์เวลาที่เราเจอปัญหาที่แก้ไม่ตก

หลายคนก็มักจะอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หาที่พึ่งพาทางใจ ทั้งที่เราเองก็ไม่รู้ว่าท่านเหล่านั้นที่เราไหว้วอน มีอยู่จริงหรือไม่ ศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มักจะถูกสั่นคลอนในเวลาที่เราไม่สมหวัง ในทางกลับกัน ผู้คนก็มักจะเชื่อในการมีอยู่เมื่อได้ตามที่วอนขอ คำตอบว่ามีหรือไม่มี จริงหรือไม่จริง

สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับเราเองว่าจะเชื่อหรือไม่ และในมุมของแต่ละศาสนา ก็จะมีคำตอบในแต่ละแบบที่ต่างกันไป ซึ่งจุดนี้เราว่าใส่มาน้อยไปหน่อย

ใดๆก็ตาม ศรัทธา เป็นเรื่องของบุคคล ขอแค่บุคคลอย่าเอาศรัทธามาเป็นเครื่องเบียดเบียน หรือทำร้ายคนอื่น อันนี้จะเป็นสิ่งดีที่สุด

หนังเข้าฉายในโรงแล้ว ควรค่าแก่การดูในโรง งานภาพสวยงาม ฟังจากสัมภาษณ์ผู้กำกับแล้ว ทีมงานสมบุกสมบันกันมาก ซึ่งภาพก็ออกมาสวยจริง งานเสียงอย่างแจ่ม นักแสดงเล่นกันสุด บอกเลยว่าสมราคาคุย

**** จากนี้บรรทัดไป มีการเปิดเผยเนื้อหาเยอะมาก****

วิเคราะห์กันแบบสนุก ๆ นะ ประสาคนดูหนังธรรมดา ไม่ได้ความรู้ในทางภาพยนตร์

ขึ้นต้นแบบไทย ส่งท้ายแบบผีเกาหลี

ความที่เนื้อเรื่องต้นฉบับของร่างทรง นาฮงจินเป็นคนเขียน แล้วส่งต่อมาให้ ผกก.บรรจงปรับแต่ง ก็เลยทิ้งเอกลักษณ์จาก The Wailing ไว้หลายอย่าง อาทิ

– บรรยากาศของสถานที่

– ตัวละครหลักเป็นลูกสาวที่ถูกผีสิง

– ร่างทรงผู้ชายที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากกว่าเดิม

– ตัวละครผู้หญิงไม่มีชื่อที่พยายามหาทางแก้ไขปัญหาจนสุดความสามารถ แต่สุดท้ายก็ช่วยอะไรไม่ได้ ตัวละครนี้คล้ายกับตัวละครป้านิ่ม

– ฉากผีดิบกัดคน เทียบกับฉากที่ทีมงานคนทรงโดนผีสัตว์ร้ายเข้าสิง แล้วไล่กัดทีมงานสารคดี ตรงนี้เหมือนกระทั่งมุมกล้อง

– สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของลางบอกเหตุ ความชั่วร้าย อย่างหมาดำ อีกา

โดยปกติ ตามความเชื่อของบ้านเรา คนที่จะมาเป็นร่างได้ต้องเป็นคนที่พิเศษอาจจะมีเซนส์ติดตัวมา รักษาศีล สวดมนต์ ประมาณนั้น แต่หนังสร้างความไม่ปกติขึ้นมา คือให้มิ้งมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายอย่าง นั่นจึงเป็นเหตุให้ป้านิ่มยืนยันว่ามิ้งไม่สามารถเป็นร่างทรงย่าบาหยันได้

เป็นร่างทรงไม่ได้ เลยกลายมาเป็นร่างผี ?

มันมีความเชื่ออย่างหนึ่งของทางอีสาน ประมาณว่าคนที่ทำผิดครูบาอาจารย์ รักษาศีลไว้ไม่ได้ สุดท้ายจะกลายเป็นปอบ ก็คือมีสิ่งชั่วร้ายมาสิงร่าง แต่ยังไงก็คือต้อง “รับ” อะไรบางอย่างมาก่อน ไม่ใช่นึกจะสิงก็สิงได้ ผู้กำกับและทีมงานอาจเอาความเชื่อส่วนนี้มาใช้

แต่… มิ้งเองก็ยังไม่ได้รับอะไรเลย แล้วอะไรที่ทำให้มิ้งแปลกไป คำถามแรกที่หนังเริ่มบอกใบ้กับคนดู คือตอนที่ตากล้องถามป้านิ่มว่า “ถึงเวลาที่มิ้งต้องรับย่าบาหยันแล้วเหรอ” แต่สีหน้าของป้านิ่มดูลังเลแล้วแบ่งรับแบ่งสู้ เหมือนป้าเองก็ไม่แน่ใจ

สิ่งที่สังเกตเห็นได้อีกอย่างในหนังร่างทรงก็คือ “ผี” ในเรื่อง ไม่มีผีอย่างเป็นรูปธรรมเลย ผีทั้งหมดทั้งมวลต้องปรากฏตัวผ่าน “คนกลาง” ทั้งหมด

ครึ่งแรกของหนัง ถ้าสมมติว่าเราคือหนึ่งในทีมงานสารคดี เราจะคิดว่ามิ้งมีอาการทางจิต เหมือนคนเป็นโรคหลายบุคลิก คงบอกให้คนที่บ้านพามิ้งไปโรงพยาบาลจิตเวช แต่พอหนังเริ่มเพิ่มความลี้ลับ ก็คือฉากระหว่างทางที่แม่น้อยพามิ้งไปรับขันธ์

มิ้งเหม่อลอย แต่เงาในกระจกรถของมิ้งแสยะยิ้ม อะต้องเปลี่ยนโหมดไปที่ความเป็นหนังผีแล้ว

“เจ้ากรรมนายเวร” เป็นตัวเลือกอันดับต่อมา

อันนี้เป็นประเด็นที่ผู้กำกับชอบเอามาเล่น ดูจากผลงานเก่า ๆ ซึ่งมันก็ตีความไปได้หลายทาง เพราะหนังไม่ได้เฉลยทั้งหมด

มิ้งอาจจะเป็นคนที่มีความพิเศษสืบต่อมาจากตระกูลฝั่งแม่จริง ๆ เพราะอาการต่าง ๆ ที่แม่น้อยกับป้านิ่มเล่า คล้ายกับอาการของมิ้ง แต่พอจิตเริ่มต้องเปิดรับ มิ้งกลับรับอย่างอื่น ซึ่งก็อดคิดไม่ได้ว่า แม่น้อยกับป้านิ่มเคยเป็นผีบ้าผีบอไปแบบที่มิ้งเป็นหรือไม่

ทำไมมิ้งถึงเป็นร่างให้ย่าบาหยันไม่ได้ ?

ถ้าเอาตามคำยืนยันหนักแน่นของป้านิ่ม ผีย่าไม่ได้มาผ่านร่างมิ้งแน่นอน แต่เป็นผีที่วนเวียนอยู่ใกล้ตัว อีกเหตุผลที่คิดว่าเป็นเพราะเจ้ากรรมนายเวร ก็คือการถูกพาร่างไปที่ตึกร้าง โรงงานของปู่มิ้งที่ตรงนั้นมีคนไปทำพิธีกรรมสาปแช่ง ก็น่าจะเป็นญาติของคนงานที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งหนังก็ไม่ได้บอกว่าเป็นใคร มีเฉลยแค่ในตอนใกล้ ๆ จะจบนิดเดียวว่าสาปทั้งตระกูล

เราเห็นแต่กองของข้าวของในพิธีซึ่งก็ดูไม่ได้เก่ามาก แต่กองสูงเหมือนสะสมมาเรื่อย ๆ ความเป็นไปได้คืออาจจะมีการสาปแช่งมาตลอด และพิธีล่าสุดอาจจะมีเมื่อไม่นานมานี้ ดูจากสภาพของหุ่นและแผ่นป้ายที่ปักอยู่บนตัวหุ่น

แต่ถ้ามิ้งเป็นร่างทรงย่าได้ แล้วผีที่มาเข้าเป็นผีย่าบาหยัน มันก็อาจจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังกันไปอีก เพราะไม่มีใครรู้ที่มาที่ไปของย่าบาหยันมาก่อน ย่าอาจจะเป็นผีที่ถูกตัดคอโดยบรรพบุรุษทางพ่อมิ้งแล้วไม่ยอมไปผุดไปเกิด ด้วยแรงอาฆาตอาจจะมีฤทธิ์ ก็สร้างคุณงามความดีชื่อเสียงให้ตัวเองด้วยการช่วยเหลือชาวบ้าน พอได้รับการกราบไหว้ก็เริ่มมีตัวตน และรอคอยเวลาจะล้างแค้น รอจนเรื่องทุกอย่างขมวดปมเข้ามาเรื่อย ๆ จนวันที่แม่มิ้งได้แต่งงานกับพ่อ ภารกิจปิดจ๊อบของย่าบาหยันก็เริ่มขึ้น จากผีที่มีฤทธิ์เลยกลายเป็นปิศาจ แล้วก็ทำร้ายมิ้งและครอบครัว

“ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”

ข้อความนี้ปรากฏในฉากที่แม่น้อยเล่าให้ทีมงานฟังว่าตัวเองเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์เพียงเพราะไม่อยากเป็นร่างทรง เหมือนเป็นการบอกใบ้อะไรบางอย่าง ถึงบาปของแม่น้อยกับมิ้งที่อาจจะยังไม่ได้รับการอภัย ทางพุทธก็น่าจะหมายถึงการอโหสิกรรม

สมมติว่าเราโฟกัสไปประเด็นที่ว่า ผีที่มาเข้าร่างมิ้งคือผีที่อยู่ใกล้ตัวมิ้ง ที่เห็นชัด ๆ ช่วงแรก คือ คนแก่ แต่หลังจากนั้นมีเด็กตามมา ตอนที่มิ้งเมาแล้วหนีลิซ่ากลับมาตอน ลิซ่าโทรมาตามเพื่อน “มึงไปกับผู้อีกแล้วใช่มั้ย ถ้ามึงพลาดอีกกูไม่ช่วยมึงแล้วนะ” เป็นอีกคำใบ้ที่คิดว่ามิ้งเคยเมาแล้วไปกับใครก็ไม่รู้จน “พลาด” แล้วลงเอยด้วยการให้เพื่อนช่วยพาไปยุติการตั้งครรภ์ ส่วนในช่วงท้ายอย่างที่ป้านิ่มเคยบอกว่าตามความเชื่อของท้องถิ่นนั้น ๆ ผีอยู่ในทุกสิ่ง เลยไม่รู้อะไรเข้าสิงไปบ้าง มิ้งไม่เหมือนคนอีกต่อไปแล้ว ไม่รู้เป็นหมาหรือเป็นเสือ ถ้าตามที่ผู้กำกับปูทางไว้ก็เป็นหมาแหละ เพราะแม่น้อยขายเนื้อหมา

ฉากท้ายเรื่องที่บนพื้นมีรอยเท้าเยอะ ๆ ก็น่าจะเป็นทั้งคนที่ตายในโรงงาน ทั้งผีที่ร่างทรงผู้ชายเรียกมา (ฉากนี้แอบนึกถึงฉากนึงในเรื่องแฝดด้วย ที่เดินเล่นกันริมทะเลแล้วเห็นแต่รอยเท้า)

พระสงฆ์ในเรื่องนี้มีบทบาทน้อยนิดมาก ที่จำได้คือปรากฏกันอยู่ไม่กี่ฉาก ก็คือพิธีศพ พิธีสวดเพื่อความเป็นสิริมงคลตอนร่างทรงผู้ชายเตรียมพิธี กับเดินลากเสาน้ำเกลืออยู่ในโรงพยาบาล เป็นเพียงนักบวชธรรมดาไม่ได้มีความพิเศษอะไร

ตอนดู The Wailing ตัวละครที่เป็นปิศาจ นาฮงจินเลือกให้ปิศาจเป็นคนญี่ปุ่น ซึ่งเกาหลีกับญี่ปุ่นนี่ ก็เหม็นหน้ากันมายาวนาน แล้วเปิดหน้าเล่นตั้งแต่ต้นเรื่องเลยว่าคนญี่ปุ่นนี่แหละคือผีร้าย หลังจากนั้นค่อยเพิ่มความสงสัย ปั่นคนดูให้เกิดความสับสน แถมพ่วงตัวละครคนเกาหลีที่ดันไปสมรู้ร่วมคิดกับปิศาจคนญี่ปุ่น เข้ามาทำลายหมู่บ้าน ซึ่งตัวละครนี้ก็คือร่างทรง มันเหมือนคนเกาหลีที่เป็นคนกลางชักนำคนญี่ปุ่นเข้ามาหาผลประโยชน์แล้วทำลายประเทศ เราตีความแบบนั้น

ส่วนร่างทรง หรือ The Medium มันไม่มีความชัดเจนเลยว่าผู้ร้ายตัวจริงคือใคร หนังตั้งโจทย์หลอกให้คนดูพุ่งตรงมาที่การสืบทอดทายาทร่างทรง ก่อนเหินทะยานกลายเป็นหนังปิศาจที่เราเดาทิศทางไม่ถูก แล้วมาลงจอดที่คำถามทิ้งท้ายว่า สรุปแล้วที่ผ่าน ๆ มานั้น ย่าบาหยันมีอยู่จริงหรือไม่

ตรงนี้เราเลือกที่จะเชื่อว่าย่าบาหยันมีอยู่จริง จากการกระทำหลาย ๆ อย่างของป้านิ่มที่พยายามจะช่วยหลาน เพียงแค่ป้าถอดใจ เสียขวัญ กับสิ่งที่ได้รับรู้ ซึ่งป้าก็ไม่ได้บอกกับคนดูอยู่ดีว่าป้าไปรู้อะไรมา

ปริศนาสุดท้ายที่เหมือนการบอกลาระหว่างย่าบาหยันกับป้านิ่ม ก็คือรูปปั้นย่าถูกตัดคอ ซึ่งจุดนี้มันก็ตีความไปได้อีกว่ารูปปั้นย่าอาจโดนปิศาจที่เข้าร่างมิ้งมาทำลาย ฉากที่ป้านิ่มโยนจานตอนสวด แกอาจจะสัมผัสอะไรจากย่าไม่ได้แล้ว ก็คือแกกลับไปเป็นป้านิ่ม คนธรรมดา แล้วก็ถูกทำร้ายไปในที่สุด ซึ่งดูจากท่าตาย และสภาพที่เกิดเหตุ แอดมินเชื่อว่าป้าไม่ได้ไหลตายแน่นอน แล้วก็ไม่ได้ตายเพราะมิ้ง ด้วยวิธีการฆ่าคนละสไตล์ คนร้ายตัวจริงน่าจะเป็นคนอื่น หรือถ้าย่าบาหยันเป็นผีที่จัดการป้านิ่มจริง ก็น่าจะทำด้วยวิธีที่นุ่มนวลที่สุดแล้ว ซึ่งคนดูอย่างเราก็มโนกันต่อ

เป็นการดูหนังผีที่สนุกไปอีกแบบ คือเฉลยแต่เหมือนไม่เฉลย

รถคันนี้สีแดง…

วิธีการนี้ ก่อนที่ร่างทรงสันติจะนำมาใช้ จริง ๆ แม่น้อยเป็นคนที่ใช้วิธีนี้มาก่อน ตั้งแต่เรื่องเอายันต์ไปใส่รองเท้า เอาเสื้อผ้าไปให้ป้านิ่มใส่ ซึ่งก็เป็นวิธีเดียวกับที่สันติใช้ตอนที่พาร่างแม่น้อยไปเข้าพิธีแทนมิ้ง ก็ทำให้คิดไปอีกว่า แม่น้อยก็แอบมูมาตั้งนานแล้ว แล้วคนที่แนะนำแม่น้อยมาก็อาจจะเป็นสันติ แต่แม่น้อยทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้ทำเพื่อคนอื่นอย่างป้านิ่ม

สมมติเล่น ๆ ว่า เกิดแม่น้อยหาหุ่นฟางเจอก่อน แล้วใช้วิธี “รถคันนี้สีแดง” ในแบบอื่นอย่างเช่นการเปลี่ยนชื่อนามสกุลหลอกผี อันนี้ก็น่าจะเก๋อยู่ไม่น้อย หรืออาจะเกิดการมูกลับ สู้กันด้วยการเล่นของ แต่ถ้าไปขนาดนั้นหนังจะออกทะเลไปไกลเกิน

มาถึงสิ่งที่ขัดใจ

อันดับหนึ่ง ตัวละครตากล้อง

เกะกะ รุงรัง เป็นภาระมาก คือถ่ายทุกเม็ด ฉากที่มิ้งเข้าห้องน้ำก็ยังไปส่องนี่คืออยากให้มิ้งด่าหนักๆ จิตสำนึกไปไหน เลือดเค้าไหลอาบขาแบบนั้นก็ยังจะถ่าย นึกถึงว่าถ้าเป็นเหตุการณ์จริงนี่คงไม่ให้ถ่ายแล้ว แล้วก็ยังคงรุงรังไปจนถึงฉากสุดท้าย

อันดับสอง พฤติกรรมตัวละคร

การที่ให้เด็กอยู่ร่วมบ้านกับผี คือตัวละครลุงมานิต กับแป้งถูกดีไซน์มาให้ดูเป็นคนคิดน้อย แต่อันนี้ดูน้อยเกินไป เหมือนแค่ปัดให้พ้น ๆ ตอนที่มานิตบอกกับเมียว่าจะไปอยู่ไหนก็ไปก่อน จนขนาดลูกถูกอุ้มไปแล้ว วันต่อมา ก็ยังให้เด็กอยู่ในบ้านกับผี ด้วยความไทย ยิ่งไทยอีสาน อย่างน้อย เด็กคนนี้ต้องได้รับการผูกข้อมือเรียกขวัญ หรือหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาให้ใส่ อันนี้คือความไทยไม่สุด พวกเธอถูกกำหนดมาให้ตายนั่นแหละนะ

อันดับสาม

เราว่าการที่โรงงานร้างแต่คนมาตั้งเครื่องไหว้กองขนาดนั้น ทำไมทั้งร่างทรงสันติ ทั้งป้านิ่ม ไม่มีใครรู้สึกเอะใจ ไม่มีใครสัมผัสอะไรได้ ไม่มีใครตรวจสอบ

อันดับสี่

จากการเริ่มเรื่องแบบหนังสารคดีที่รู้สึกว่ามันสมบูรณ์แล้ว แต่ความสมบูรณ์หดหมด ตอนที่ได้เห็นว่าทีมงานตายหมด แล้วใครเอาฟุตหนังมาตัด มาใส่แคปชั่น ใครเป็นคนเล่าเรื่อง คิดไปถึงขนาดว่า หรือจริง ๆ แล้วเรื่องทั้งหมดในสารคดีเป็นปาหี่ที่ทีมงานสร้างขึ้นเอง มิ้ง ป้านิ่ม แม่มิ้ง และคนอื่น รับเงินจากทีมงานสารคดี แล้วมาสร้างเรื่องราวกันขึ้นมา เรื่องทั้งหมดในหนังไม่ได้เกิดขึ้นจริง คิดไปขนาดนั้นเลย

เอาล่ะ สุดท้ายแล้วค่ะในขณะที่ The Wailing ตั้งคำถามกับเราต่อความสงสัยในความถูกผิดดีเลว ความเชื่อ ความศรัทธาต่อคำสอนในศาสนาอย่างตรงไปตรงมา ส่วนในร่างทรง นอกจากเรื่องของความศรัทธา และความเชื่อ เรายังนึกไปถึงประเด็นของการส่งต่ออำนาจ เรื่องราวของมิ้ง ถ้ามองแบบเป็นการเปรียบเทียบ พลังของย่าบาหยันคืออำนาจ บารมี ความศรัทธาที่สร้างสมมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนส่งต่อถึงลูกหลาน แต่เมื่อทายาทไม่มีความสามารถแล้วยังไม่มีความดี นอกจากจะไม่ได้พาครอบครัวให้เจริญขึ้น ยังสร้างความเสื่อมเสีย และสุดท้ายก็พาครอบครัวฉิบหายล่มจ่มไปในที่สุด

น่าจะเป็นการรีวิวและแสดงความเห็นที่ยาวที่สุดแล้วเท่าที่เคยเขียนมา ใครที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ นับว่าคุณมีความอดทนสูงกับการเวิ่นเว้อของเรามาก ขอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะ ใครที่ไปดูมาแล้วคิดอ่านอย่างไร แวะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะคะ

Leave a comment